ทำไมต้องใช้ Colemak
ถ้าใครที่เคยใช้คอมของผมก็จะรู้ว่าจะไม่สามารถพิมพ์ตามตัวอักษรที่เห็นบนคีย์บอร์ดได้ เพราะว่าผมได้เปลี่ยน layout ของผมเป็นแบบ Colemak ไปแล้ว หลาย ๆ คนก็สงสัยว่าผมทำไปทำไมเหมือนกัน ผมเลยจะมาเขียนโพสนี้เพื่อแนะนำการใช้งาน Colemak กันนะครับ
ว่าด้วย Keyboard layout
Colemak ก็เป็น keyboard layout เหมือนกับ QWERTY เลยครับ เมื่อก่อนเครื่องพิมพ์ดีดแพร่หลายมาก ตอนนั้นเป็นแป้น ABC กันอยู่ ทำให้จำตำแหน่งได้ง่ายมาก แต่ก็เจอกับปัญหาเครื่องพิมพ์ขัดข้องเวลาพิมพ์เร็วเกินไป Christopher Latham Sholes เลยคิด QWERTY ขึ้นมาเพื่อให้ตัวอักษรอยู่ห่าง ๆ กัน จะได้พิมพ์ช้าลงและแก้ปัญหาการติดขัด QWERTY เทียบได้กับแป้นพิมพ์เกษมณีครับ แต่ภายหลังกลายเป็น TIS ครับ
ต่อมาเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เข้ามามากขึ้น ไม่มีปัญหาพิมพ์ติดขัดอีก ทำให้เกิด DVORAK ขึ้นมา เพื่อให้สามารถพิมพ์ได้ไวมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมเพราะว่า QWERTY ได้แพร่หลายไปก่อนหน้านั้่นแล้ว ของไทยก็มีแป้นปัตตะโชติที่ทำให้พิมพ์ไวขึ้นเหมือนกันครับ
แต่ DVORAK มีปัญหาจากการที่ย้ายปุ่มไปหลายที่มาก ทำให้การปรับตัวจาก QWERTY เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะปุ่ม W กับ V ที่อยู่ใกล้กันมาก ทำให้การกดผิดเป็นเรื่องง่าย เช่น จะ Ctrl + V เพื่อวางข้อความ แต่กด Ctrl + W ทำให้ออกจากโปรแกรมไปแทน
Keyboard DVORAK จาก Wikipedia
การมาของ Colemak
Colemak เป็น layout ที่เป็นที่นิยมเป็นอันดับ 3 รองจาก QWERTY และ DVORAK โดยเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาการปรับตัวจาก QWERTY โดยแก้ปัญหาที่มีทั้งใน QWERTY เช่น ปุ่มที่ใช้งานบ่อยอยู่บริเวณนิ้วก้อย และ DVORAK เช่น การปรับตัวจาก QWERTY และตำแหน่งของปุ่มที่ใช้งานยากครับ
ตอนที่ผมเขียนโพสอยู่ Colemak จะอยู่ใน MacOS และก็ Linux ทั่วไปครับ สำหรับ Windows ยังต้องติดตั้งจาก colemak.com อยู่ครับ
Keyboard Colemak จาก colemak.com
การปรับตัวมา Colemak
สำหรับผมแล้วปรับตัวค่อนข้างง่ายนะครับ สิ่งที่ต้องจำก็คือคีย์ที่เปลี่ยน และก็ต้องฝึกบ่อย ๆ ครับ Colemak มีหลายคีย์ที่อยู่ที่เดียวกับ QWERTY ครับ โดยเฉพาะคีย์ลัดที่ต้องใช้ประจำเช่น ปุ่ม C V W Q ครับ สามารถเรียนได้ใน Colemak Academy ได้เลยครับผม
นอกจากนี้ยังมี Colemak-dh Workman ที่เป็น keyboard layout ทางเลือกอยู่เหมือนกันครับ ถ้าเกิดอยากพิมพ์ไว และแม่นยำขึ้น ผมขอฝาก Colemak ไว้ให้พิจารณานะครับ